โดยปกติแล้ว ลูกน้องมักจะรอให้หัวหน้าเป็นคนตัดสินใจเรื่องต่างๆ ที่จะส่งผลต่อตัวเองและบริษัท แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การที่สมาชิกในทีมรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องธุรกิจต่างๆ ได้ด้วย และเมื่อทุกคนมีอิสระในการทำงานมากขึ้น บรรยากาศในที่ทำงานก็จะดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน เพราะพนักงานจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
ความรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญนี้จะช่วยสร้างความไว้วางใจ ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานที่ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่บางครั้ง การทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจในการตัดสินใจนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในฐานะผู้นำ คุณมีหน้าที่กระตุ้นให้พนักงานกล้ารับผิดชอบมากขึ้น และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีสำหรับทุกคน
การเสริมสร้างพลัง (Empowerment) ให้พนักงานคืออะไร?
การเสริมสร้างพลังให้พนักงาน (Employee Empowerment) คือ แนวคิดที่สนับสนุนให้พนักงานทุกคนกล้าตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างอิสระ โดยหัวหน้ามีหน้าที่คอยให้คำแนะนำและสนับสนุน ให้พนักงานรู้สึกมั่นใจและกล้าที่จะลงมือทำ
แทนที่จะคอยจับผิดหรือบังคับให้พนักงานทำตามทุกอย่าง การเสริมสร้างพลังให้พนักงาน คือการให้พวกเขามีอิสระในการทำงาน ภายใต้การดูแลของคุณ หัวหน้าที่ดีจะมองว่าความผิดพลาดเป็นบทเรียน และการลองเสี่ยงเป็นโอกาสที่จะเติบโต เมื่อทำอย่างถูกวิธี การให้อิสระและเปิกโอกาสให้พนักงานทำงานอย่างเต็มความสามารถจะทำให้พวกเขารู้สึกดีกับการพัฒนาตัวเองในบริษัท พวกเขาจะภูมิใจในงานของตัวเองมากขึ้น และรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในความสำเร็จของบริษัทด้วย
อยากให้พนักงานและธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กันใช่ไหม? ลองมาดู 10 เคล็ดลับที่จะช่วยเสริมพลังให้ทีมของคุณกัน!
1. สื่อสารวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน เข้าใจง่าย
ในฐานะหัวหน้าและผู้นำ คุณมีหน้าที่สำคัญ คือการทำให้ทุกคนในทีมเห็นภาพเดียวกัน พนักงานที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรจะทำงานได้ไม่เต็มที่แน่นอน ดังนั้น การสื่อสารวิสัยทัศน์ของบริษัทและบทบาทของแต่ละคนในทีมให้ชัดเจน จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจความรับผิดชอบของตัวเอง และไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน นี่คือเหตุผลที่การสื่อสารเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของการเป็นผู้นำที่ดี
2. อย่ามองข้ามการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ
ลองหาเวลานั่งคุยกับพนักงานแบบตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็นที่ออฟฟิศ ห้องพัก หรือร้านกาแฟใกล้ๆ ก็ได้ ถามไถ่เรื่องงาน ความสำเร็จ หรือแม้แต่ปัญหาที่เจอ แต่ที่สำคัญ อย่าลืมทำความรู้จักพนักงานของคุณในฐานะคนคนหนึ่งด้วย ถามถึงเรื่องครอบครัว หรือเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิต เพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณใส่ใจ
การพูดคุยแบบนี้จะช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี มีความเป็นกันเอง และส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมยังช่วยให้คุณพัฒนาตัวเองในฐานะผู้นำอีกด้วยนะ
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ “การทำให้พนักงานรู้ว่าความคิดเห็นของพวกเขามีค่า” เปิดรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน จะทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในบริษัท
3. ส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
เมื่อพนักงานได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ก็เหมือนเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับบริษัทโดยรวม บางบริษัทถึงขั้นสนับสนุนให้พนักงานไปเรียนต่อ หรือไปอบรมคอร์สต่างๆ เพื่อพัฒนาตัวเอง
ถ้าบริษัทไม่สามารถสนับสนุนด้านการเงินได้ สามารถลองยืดหยุ่นเรื่องเวลาทำงานให้พนักงานบ้าง เช่น ถ้าพนักงานอยากไปเข้าชมรมดนตรีหลังเลิกงาน ก็อนุญาตให้กลับก่อนเวลาสักครึ่งชั่วโมง การได้ทำกิจกรรมที่ชอบนอกเหนือจากงาน จะช่วยให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข และส่งผลดีต่อการทำงานในระยะยาว
4. สนับสนุนให้พนักงานลาพักร้อน
อาจจะฟังดูแปลกๆ แต่การให้พนักงานได้หยุดพักผ่อนบ้าง จะช่วยให้พวกเขาทำงานได้ดีขึ้นมาก ลองสนับสนุนให้พนักงานลาพักร้อนบ้าง เพื่อป้องกันภาวะหมดไฟ หรือ Burnout ในการทำงาน
เมื่อพนักงานได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ พวกเขาจะกลับมาทำงานด้วยพลังที่เต็มเปี่ยมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องลาพักร้อนเป็นอาทิตย์ เพียงแค่ลาพักยาวๆ สัก 2-3 วันในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ช่วยได้เยอะแล้ว และลองสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมให้พนักงานกล้าขอลางานพักผ่อนบ้าง จะเป็นผลดีต่อทั้งตัวพนักงานและบริษัทเลยล่ะ
5. มอบหมายงานสำคัญให้พนักงานบ้าง
การมอบหมายงานเป็นเรื่องปกติของหัวหน้า แต่คุณอาจลองให้พนักงานได้มีโอกาสทำอะไรที่มากกว่านั้น เช่น ให้พวกเขาเป็นคนนำการประชุมสำคัญๆ ดู แม้ว่าจะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ที่คุณติดธุระก็ตาม การแสดงให้พนักงานเห็นว่าคุณไว้ใจให้พวกเขารับผิดชอบงานสำคัญ จะช่วยสร้างความรู้สึกผูกพันและภักดีต่อบริษัทได้ดี
6. เปิดใจเรื่องความยืดหยุ่น
ชีวิตคนเราไม่ได้ราบรื่นไปทุกอย่าง ลองเปิดใจและยืดหยุ่นเรื่องเวลาทำงานให้กับพนักงานดู เช่น ถ้ามีพนักงานที่ต้องไปส่งลูกที่โรงเรียนตอนเช้า ก็ลองจัดตารางงานให้เหมาะสมกับพวกเขาดู นอกจากจะช่วยให้พนักงานไม่ต้องเจอกับรถติดแล้ว ยังมีเวลาตั้งสติก่อนเริ่มงานได้อีกด้วย
ถ้าเป็นงานที่ทำที่ไหนก็ได้ ลองให้พนักงาน Work From Home ในวันที่ต้องดูแลคนป่วยที่บ้าน หรือถ้าไม่สะดวกให้ Work From Home ยาวๆ ก็ลองให้ทำสักวันสองวันต่อสัปดาห์ หรือเดือนละครั้งก็ได้ ใครจะรู้? การได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ตัวเองชอบ อาจจะทำให้พนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ได้
7. เปิดรับไอเดียใหม่ๆ จากพนักงาน
ถึงเราจะทำอะไรแบบเดิมๆ มาตลอด ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดเสมอไป โลกเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีปัญหาใหม่ๆ ให้แก้ไข และวิธีการทำงานที่ดีกว่าเดิมอยู่เสมอ ดังนั้น ลองเปิดใจรับฟังไอเดียจากพนักงานของคุณดูสิ ให้พวกเขาได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
การเปิดโอกาสให้พนักงานได้คิดนอกกรอบ ไม่เพียงช่วยลดภาระของคุณ แต่ยังอาจได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมอีกด้วย ลองบอกเป้าหมายที่ต้องการให้ชัดเจน แล้วให้พนักงานได้ลองหาวิธีไปถึงเป้าหมายด้วยตัวเอง พวกเขาอาจจะทำได้ไม่เหมือนที่คุณคิดเป๊ะๆ แต่รับรองว่างานจะออกมาดีไม่แพ้กัน แถมยังได้สไตล์การแก้ไขปัญหาที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาอีกด้วย
8. ชื่นชมความพยายามของพนักงาน
ถึงแม้ว่าพนักงานจะได้รับเงินเดือนเพื่อมาทำงานทุกวัน แต่การได้รับคำชมและการยอมรับในความพยายามก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการปิดการขายได้อย่างยอดเยี่ยม หรือการทำรายงานออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ อย่าลืมบอกให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาทำได้ดีแค่ไหน และแบ่งปันความสำเร็จเหล่านี้ให้คนอื่นๆ ในทีมได้รับรู้ด้วย
การทำแบบนี้จะช่วยให้พนักงานเห็นว่างานของพวกเขามีคุณค่าและมีผลต่อการเติบโตบริษัทจริงๆ นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจและความสุขในการทำงานแล้ว ยังเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาตั้งใจทำงานที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคตอีกด้วย
9. ให้อภัยเมื่อพนักงานทำผิดพลาด
ถ้าคุณโกรธทุกครั้งที่พนักงานทำพลาด พวกเขาจะไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ หรือเสี่ยงที่จะลองทำอะไรที่แตกต่างออกไปจากเดิม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งตัวพนักงานและบริษัท จุดประสงค์ของการเสริมสร้างพลังให้พนักงาน คือการทำให้พวกเขามั่นใจและกล้าที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง แม้ว่าบางครั้งอาจจะผิดพลาดไปบ้างก็ตาม
10. ดึงจุดแข็งของแต่ละคนออกมาใช้
การเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของพนักงานแต่ละคน จะช่วยให้คุณรู้ว่าจะเสริมสร้างพลังให้พวกเขาในด้านไหนได้บ้าง เช่น ถ้ามีพนักงานที่พูดเก่ง ก็ลองให้เขาเป็นคนนำเสนองานในที่ประชุม หรือถ้ามีพนักงานที่เขียนเก่ง แต่อาจจะไม่ถนัดพูด ก็ลองให้เขาช่วยเขียน Newsletter ของบริษัทดู
การให้โอกาสพนักงานได้แสดงความสามารถในแบบของตัวเอง จะช่วยให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าและมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น
…
การเสริมสร้างพลังทำงานให้พนักงาน ไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างความสุขในการทำงานเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับบริษัทอีกด้วย เมื่อพนักงานรู้สึกว่าตัวเองได้รับความไว้วางใจและมีอำนาจในการตัดสินใจในระดับหนึ่ง พวกเขาจะกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงความคิดเห็น และกล้ารับผิดชอบมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้คือ พนักงานจะมีความสุขในการทำงานมากขึ้น อยากอยู่กับบริษัทไปนานๆ และพร้อมที่จะทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การบริการลูกค้าก็จะดีขึ้น เพราะพนักงานสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันที
ยิ่งไปกว่า การเสริมสร้างพลังทำงานให้กับพนักงาน ยังเป็นการเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้เติบโตและพัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวพนักงานเองและบริษัทในระยะยาว ดังนั้น หากคุณอยากเห็นพนักงานมีความสุข ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอยากเห็นบริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน
“การเสริมสร้างพลังให้พนักงาน” หรือ “Employee Empowerment”
คือ สิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม
Source
business.com — Trust the Process: 10 Tips to Empower and Encourage Your Staff
#Empowerment #พัฒนาทีม #สร้างทีมให้แข็งแกร่ง #ผู้นำยุคใหม่ #HR #Team #Teamwork #Develop #Leader #Leadership #ภาวะผู้นำ #TeamBuilding #สร้างทีม #EmployeeEmpowerment #ให้กำลังใจ #เสริมสร้างพลัง
Comments