3 แนวทางหลีกเลี่ยงลูกทีมจากอาการ ‘Burnout’
ในช่วงปีสองปีมานี้ที่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องอุดอู้อยู่แต่บ้าน ไม่สามารถออกไปเที่ยว หรือ ทำอะไรตามใจอยากได้ ที่สำคัญ เหล่าคนทำงานก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ทำงานแบบ Work From Home กันมากขึ้น ทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ทั้งจากบรรยากาศ ความกดดัน ความเครียด จนเกิดเป็นอาการที่เรียกว่า อาการ ‘ Burnout ’
อาการ ‘ Burnout ’ คืออะไร?
หากคุณรู้สึกว่าตนเองกำลังหมดไฟ ไม่ได้ดูแลสุขภาพ รู้สึกว่าร่างกายเหนื่อยล้า จากการทำงานต่อเนื่องหักโหมอย่างหนัก ขาดการพักผ่อน นี่แหละค่ะ สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณอาจกำลังมีอาการ ‘ Burnout ’ หรือถ้าเรียกให้เข้าใจง่ายก็คือ คุณกำลังรู้สึก ห่อเหี่ยว หรือ เฉา นั่นเอง
ซึ่งถ้าผู้ทำงานหรือลูกทีมของคุณมีอาการนี้ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นย่อมมีผลต่อการทำงานอย่างแน่นอน เช่น การส่งออกผลงานลดลง งานที่ได้ไม่มีคุณภาพ บรรยากาศการทำงานดูหม่นหมอง ขาด energy ในการทำงาน
ในฐานะหัวหน้า คุณจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกทีมเกิดอาการ ‘Burnout’ ?
1. สร้างบรรยากาศการพักผ่อน หรือ วันหยุด ที่ได้หยุดอย่างแท้จริง
อาการ ‘Burnout’ มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่ได้พักผ่อน หรือ ไม่มีเวลาคิดเรื่องอื่นเลยนอกจากงาน จากการสำรวจของ HBR พบว่ามีคนกว่า 30% ยังทำงานหรือคิดเรื่องงานแม้จะอยู่ในวันหยุดของพวกเขาก็ตาม โดยเหตุผลหลักๆ ที่พวกเขาตอบตรงกัน คือ “กังวลว่าจะมีงานเข้าระหว่างที่พวกเขาไม่ได้อยู่กับงาน” ซึ่งมาจากการทำงานไม่ทัน หรือ ไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของหัวหน้าได้
จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่หัวหน้าในฐานะผู้นำต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดให้ทีมงานสามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องงานในระหว่างวันหยุด เมื่อพวกเขาสบายใจและพักผ่อนได้เต็มที่ ก็จะกลับมาทำงานแบบ สดชื่น กระปี้กระเป่า มากขึ้นแน่นอน
2. ส่งเสริมโปรแกรมเพื่อประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดี
จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ทำงานต่อข้อเสนอขององค์กรเพื่อลดอาการ ‘Burnout’ พบว่า คนต้องการ “ตัวเลือกการทำงานที่ยืดหยุ่น” หรือ โปรแกรมช่วยเหลือผู้ทำงาน คำแนะนำอื่นๆ เช่น โปรแกรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ในออฟฟิศ และ ใช้เวลาให้กับการรักษาสุขภาพทางใจ หรือ วันพักฟื้น เป็นต้น นอกจากนี้ บางองค์กรก็อาศัยการจัดอบรมเกี่ยวกับ การบริหารความเครียดให้แก่ผู้ทำงาน หรือตัวอย่างจากบริษัท Aetna ที่จัดคลาสโยคะและสมาธิ ศูนย์ออกกำลังกายในออฟฟิศ มีอาหารสุขภาพให้เลือกทาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ทำงานได้เลือกใช้ ความจำเป็นต่อมาคือการทำให้ทีมงานรู้สึกสบายใจที่จะเลือกใช้ฟังก์ชันเหล่านี้ ดังนั้น ผู้นำจึงต้องทำเป็นตัวอย่าง และสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรู้สึกสะดวกใจที่จะเข้าร่วมด้วยกันเป็นอย่างดีนั่นเอง
3. สร้างวัฒนธรรมการยอมรับ
ปัญหาอย่างหนึ่งที่ถูกพูดถึงในการสำรวจ คือ “ขาดการสนับสนุน หรือ การยอมรับจากหัวหน้าหรือผู้นำ” หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ทำงานไม่เกิดอาการ ‘Burnout’ คือ แสดงให้พวกเขาเห็นถึงการยอมรับหรือคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ เช่น เรื่องง่ายๆ อย่างการขอบคุณ ก็เป็นการสร้างกำลังใจในการทำงานอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะ เมื่อคนทำงานรู้สึกว่างานของพวกเขามีความหมาย และ หัวหน้ามองเห็นความตั้งใจ ย่อมส่งผลให้พวกเขามีกำลังใจในการทำงานต่อๆ ไปมากขึ้น
การสำรวจแสดงให้เห็นว่าองค์กรที่มีวัฒนธรรมการยอมรับในระดับสูงได้ประโยชน์จากการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เครียดน้อยลง และการยอมรับซึ่งกันและกันทำให้ผู้ทำงานรับมือกับสิ่งที่เขาต้องเผชิญได้ดีขึ้น
ความเครียดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในการทำงาน และ การดำรงชีวิต แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีผลกระทบกับทุกคนเสมอไป องค์กรเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่จะปกป้องผู้ทำงานจากอาการ ‘Burnout’ ได้ ดังนั้น การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการทำงานให้แก่ลูกทีม จึงเป็นหน้าที่สำคัญของหัวหน้าทีมด้วยเช่นกัน
Credit: Harvard Business Review
M.I.S.S.CONSULT The Leadership Solution Specialist (LSS)
Comentarios