top of page

The Growth Journal

Writer's pictureMC

Leaders, Do You Have a Clear Vision for the Post-Crisis Future?

ในอนาคตหลังวิกฤต คุณมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนหรือยังในฐานะผู้นำ?


ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 สั่นสะเทือนเศรษฐกิจโลก วิถีชีวิต การทำงาน และ การดำเนินธุรกิจของเรา เหล่าผู้นำต่างพยายามดิ้นรนเพื่อจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ได้พิสูจน์มาแล้ว นอกจากการแก้ปัญหาปัจจุบัน ก็จำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตด้วย ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์อย่าง อับราฮัม ลินคอล์น, FDR, วินสตัน เชอร์ชิลล์ และ เนลสัน แมนเดลา พวกเขาไม่เพียงตอบสนองต่อภัยคุกคามที่ใกล้จะเกิดขึ้น พวกเขายังมองไปไกลกว่านั้น โดยคำชี้แนะของผู้มีวิสัยทัศน์ และ พวกเขาก็ส่งต่อวิสัยทัศน์เหล่านั้น ให้กับผู้ทำงานของพวกเขาด้วยเพื่ออนาคตที่ดีหลังจากวิกฤตผ่านพ้นไป


เมื่อพูดถึง วิสัยทัศน์ ถือเป็นสิ่งที่ต้องคิดอย่างเร่งด่วนเมื่อเกิดวิกฤตโลกขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้การคาดการณ์อนาคต 5 ปี อาจเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์หรือเดือนต่อจากนี้ เพราะทุกกิจการต่างเผชิญกับอุปสรรคทางธุรกิจทั้งสิ้น กลยุทธ์ทางธุรกิจของคุณก็ต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างรวดเร็ว


ที่สำคัญคือ การดำเนินธุรกิจหลังจากที่วิกฤตนี้จบลงจะแตกต่างจากสิ่งที่เคยเป็นมาก่อนแน่นอน


การเริ่มต้นเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้กลายเป็นความจำเป็นของผู้นำไปโดยปริยาย และเพื่อที่จะเตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม การมีวิสัยทัศน์ในระยะยาวไปถึง 5-10 ปี ก็จะเป็นการช่วยออกแบบความคิดของสิ่งที่คุณต้องเริ่มทำในวันนี้ได้ อาจฟังดูยาก แต่เมื่อวิสัยทัศน์ของคุณชัดเจน คุณจะสามารถเริ่มต้นหย่อนเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ทีมของคุณเติบโตและสานต่อสิ่งที่คุณอยากให้เป็นได้ และจะเกิดผลในอนาคตนั่นเอง


ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ที่สุด ก็คือ Apple ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในยุคที่เทคโนโลยียังไม่เฟื่องฟูเช่นปัจจุบัน แต่ สตีฟ จ็อบส์ ก็กล้าที่จะวางแผนเพื่อที่จะสร้าง iPod และ iPhone ในสมัยนั้นอาจเป็นเรื่องตลก แต่ในปัจจุบันนี้วิสัยทัศน์ที่เขาได้วางไว้กลายเป็นเทคโนโลยีที่นิยมกันทั่วโลก และเป็นผู้นำในเรื่องของสมาร์ทโฟนยุคใหม่โดยที่ใครอาจคาดไม่ถึงในตอนนั้น


แน่นอนว่าไม่มีใครที่มีไอเดียบรรเจิดแล้วเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน ขณะที่คุณไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คุณยังสามารถพัฒนาความชัดเจนว่าคุณจะทำอะไรได้มากกว่าที่คุณจินตนาการ และสร้างแผนการดำเนินชีวิตตามนั้น แล้วจึงเริ่มลงมือทำตามสิ่งที่คุณวางไว้ แล้วจะเริ่มต้นอย่างไร?


1. แบ่งเวลาเพื่อมาคิดถึงภาพในอนาคต


จัดสรรสัก 10-20% ในเวลาของคุณในแต่ละสัปดาห์ เพื่อค้นหาและคิดถึงแนวทาง หรือ จุดยืนขององค์กรคุณเมื่อวิกฤตจบลงแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าวิสัยทัศน์นี้ จะต้องสอดคล้องกลับวิสัยทัศน์ในระยะยาวของคุณด้วย ซึ่งการคิดนี้เป็นส่วนสำคัญที่ CEO, CFO, CSO หรือ ผู้นำคนสำคัญในองค์กรจะต้องพิจารณา และ ทำให้เกิดผลลัพธ์


ดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตลาด ลูกค้า การดำเนินการต่างๆ และ สิ่งที่ไม่ต้องเปลี่ยน เน้นสิ่งที่ลูกค้าของคุณต้องการ วิธีที่คุณจะตอบสนองให้ตรงกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของพวกเขา สินค้า บริการ และความสามารถในการดำเนินการโดยรวมของคุณ


พิจารณาถึงความยืดหยุ่นในธุรกิจของคุณเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต คิดถึงทั้งอุปสรรค และ โอกาสที่จะเกิดขึ้น และต้องไม่ลืมที่จะปรับพฤติกรรมของคุณที่ไม่เหมาะสมทิ้งไป เพื่อเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตในอนาคต


2. พัฒนากลยุทธ์จากเป้าหมายในอนาคตสู่การลงมือทำในวันนี้


แทนที่จะเริ่มต้นคิดจากจุดเริ่มต้น ให้ลองคิดถึงเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ที่คุณวางไว้ในระยะยาว แล้วจึงคิดว่าวันนี้คุณต้องทำอะไรเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น จากเป้าหมายระยะยาว จะทำให้เกิดเป้าหมายระยะกลางและระยะสั้นของคุณโดยอัตโนมัติ ทำให้คุณรู้ว่าวันนี้ต้องลงทุนกับอะไร และเป็นการลดการพะวงอยู่กับข้อจำกัดที่มีตอนนี้ลงอีกด้วย


3. พร้อมเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง


รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น อย่าลืมที่จะ วัด ติดตาม และทบทวนความก้าวหน้าของตัวคุณเองอย่างจริงจัง ในช่วงแรกคุณอาจใช้สมมติฐาน แต่เมื่อคุณทดสอบในโลกความจริง คุณจะมีข้อมูลและประสบการณ์มากขึ้นจากสิ่งที่คุณได้เรียนรู้ มาปรับให้เป็นวิสัยทัศน์ และ กลยุทธ์ของคุณ


อย่างไรก็ตาม การมุ่งไปให้ถึงเป้าหมายในระยะยาว แน่นอนว่าคุณต้องพบอุปสรรค และบางครั้งก็พบความล้มเหลว ทักษะที่คุณจำเป็นต้องมีและทำให้ได้ คือ ความคล่องแคล่วในการปรับตัว การตัดสินใจที่รวดเร็ว และการไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เพราะ คุณจะต้องสังเกตได้ถึงสัญญาณหรือผลที่เกิดจากสิ่งที่คุณได้ทำ หากมันเริ่มมีปัญหา คุณต้องพร้อมที่จะตัดสิน และเปลี่ยนแปลง เรียนรู้อย่างรวดเร็วแล้วปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง เช่นนี้คุณจึงจะสามารถก้าวไปเรื่อยๆ ให้ถึงเป้าหมายที่คุณวางไว้ได้จนสำเร็จ


4. ระดมทีมที่พร้อมตอบรับวิสัยทัศน์ของคุณ


เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ผู้ทำงานของคุณต้องเสียสละ ดังนั้น พวกเขาต้องเชื่อในวิสัยทัศน์ มุมมองของอนาคตที่ดีกว่าของคุณว่าพวกเขาสามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ เมื่อคุณมีวิสัยทัศน์ในสิ่งที่คุณอยากเป็นแล้วซึ่งสร้างแรงบันดาลใจ มีจุดมุ่งหมายที่มั่นคง เทียบกับปัจจุบัน พวกเขาก็จะพร้อมที่จะเดินไปกับคุณ



อย่าประเมินวิกฤตที่เกิดขึ้นต่ำไป เพราะเราทุกคนกำลังต่อสู้กับความท้าทายที่ไม่คุ้นชิน ผู้นำที่สามารถบริหารงานของตนเองได้ และเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ประกอบด้วย จะหลุดพ้นวิกฤตนี้ พร้อมกับองค์กรที่เข้มแข็งและยืดหยุ่นกว่าที่เคยเป็นมาได้อย่างแน่นอน ดังนั้น การสละเวลาสักส่วนหนึ่งของคุณให้กับการวางแนวคิดและเป้าหมายในอนาคตย่อมไม่ใช่การเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน



Credit: Harvard Business Review

M.I.S.S.CONSULT The Leadership Solution Specialist (LSS)


Comments


bottom of page