เสริมสร้างภาวะผู้นำที่สามารถจูงใจคนได้ !
หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ต้องการเป็นผู้นำ ผู้บริหารระดับสูง ผู้ที่ต้องการเป็นคนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กร ศิลปะการเอาชนะใจคนหรือการจูงใจเป็นสิ่งที่คุณต้องเรียนรู้และทำให้ได้
ทำความเข้าใจกับคำว่า ‘การจูงใจ’ (Influence)
การจูงใจคนอื่นถือเป็นความสามารถหนึ่งที่มีผลมาจากคาแรคเตอร์ การพัฒนาจากสภาพแวดล้อม หรือ พฤติกรรมของแต่ละคน ซึ่งตัวแปรของการจูงใจคน มาจากการที่คนๆ นั้นมีอารมณ์ที่แข็งแกร่งพอที่สร้างอิทธิพลจากตนเองไปสู่คนอื่น กล่าวได้ว่า คนเหล่านั้นมีพลังงานที่จะทำให้คนอื่นคล้อยตามและเชื่อในสิ่งที่พวกเขาทำนั่นเอง
ผู้ที่มีความสามารถในการจูงใจคนมักจะมีทักษะในการทำให้คนอื่นทำตาม ซึ่งเป็นข้ออธิบายอย่างดีว่าทำไมคนที่มีอิทธิพลต่อคนอื่นถึงมีภาวะผู้นำอยู่ในตัว ในอดีตคุณจะสังเกตว่าสุดยอดผู้นำมักเป็นบุคคลที่มีกลุ่มคนคอยสนับสนุนเป้าหมายของพวกเขาหรือใดๆ ก็ตามที่พวกเขาต้องการ ในปัจจุบัน นิตยสาร Time ได้จัด 100 อันดับคนที่ทรงอิทธิพลในระดับโลก ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่มีอิทธิพลกับคนหมู่มาก ไม่ใช่นักกีฬาดาวเด่น นักร้องนักแสดง หรือนักการกุศล ทว่ากลับเป็นเหล่าผู้นำ อย่าง Michelle Obama อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐฯ ประธานาธิบดี Xi Jinping แห่งเมืองจีน Jacinda Ardern นายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์ Bob Iger ซีอีโอบริษัทดิสนีย์
แล้วพวกเขาทำได้อย่างไร?
จากบทความของ Harvard Business Review กล่าวถึงการศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบว่ารูปแบบการจูงใจแบบไหนที่ผู้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำมี โดยทำการศึกษาจากประวัติศาสตร์กว่า 200 ปี มากกว่า 200 ประเทศ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจว่า ภาวะผู้นำที่สามารถจูงใจคนได้และมีผลต่อคนหมู่มากมีอยู่ 2 ประเภท
แบบแรก ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ - เป็นภาวะผู้นำที่อาศัยปัจจัยต่างๆ มาเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำ และ ผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นการทำเพื่อความสำเร็จในสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่เป็นความสำเร็จในระยะสั้นเท่านั้น
แบบที่สอง ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง – ภาวะผู้นำรูปแบบนี้ ตัวผู้นำเองจะมีลักษณะเป็น บุคคลตัวอย่าง (role models) และเป็นผู้ผลักดัน ผ่านการสร้าง วิสัยทัศน์ ความแปลกใหม่ ขวัญกำลังใจ ความพึงพอใจ แก่ผู้ติดตาม
นอกจากนั้นก็ยังมีการศึกษาต่อไปอีกว่า เมื่อเวลาเดินทางมาถึงยุคปัจจุบัน ภาวะผู้นำทั้งสองอย่างนี้ยังสามารถจูงใจคนได้อยู่หรือไม่? สิ่งที่พบ ก็คือ ยังคงมีผลในปัจจุบัน
สำหรับภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ พบว่าเหล่าผู้บริหาร จะมีภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในองค์กรที่มีโครงสร้างแบบลำดับชั้น กล่าวคือ ผู้นำระดับสูงขององค์กร เช่น CEO หรือ ผู้บริหารอาวุโส เป็นผู้ตัดสินใจทุกอย่างที่มีผลต่อองค์กรและทุกคนต้องทำตาม ซึ่งภาวะผู้นำในรูปแบบนี้มีผลดีในยามวิกฤต และในโปรเจคที่ต้องการกระบวนการที่ชี้ชัดและเจาะจง
ตัวอย่างของผู้ที่ภาวะผู้นำลักษณะนี้ เช่น ผู้บริหารของทวิตเตอร์ อย่าง Bruce Daisley เขาให้สัมภาษณ์ว่า การนำทีมของเขาคือการมุ่งสู่เป้าหมาย เขาเป็นคนตรงประเด็นและเฉียบขาด เขาไม่เชื่อในเรื่องการสื่อสารที่ต้องเอาใจใคร คนที่ไม่รู้จักเขาอาจรู้สึกอึดอัด แต่ในไม่ช้าคนเหล่านั้นก็จะเข้าใจและเชื่อมั่นในตัวเขาเอง เพราะเขาบริหารโดยหลีกเลี่ยงความคลุมเครือ ทำทุกอย่างให้ชัดเจน และเข้าใจตรงกัน เขาอาศัยหลักความจริงมากกว่าความคิดเห็นหรือให้ความหวังใครลอย ๆ
ทว่าจุดอ่อนของภาวะผู้นำนี้ ก็คือ พวกเขาขาดการรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งมีผลต่อการขับเคลื่อนพฤติกรรมคนในระยะยาว เพราะผู้คนจะเกิดความเครียด ซึ่งตัว Bruce เองก็ต้องมองหาวิธีการรักษาพนักงานของเขาจากอาการ burnout ในเวลาต่อมา จึงได้ข้อสรุปว่า ภาวะความเป็นผู้นำแบบแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ การจูงใจในลักษณะนี้นำมาซึ่งผลสำเร็จในระยะสั้นเท่านั้น
ในทางกลับกัน ภาวะความเป็นผู้นำแบบการเปลี่ยนแปลง พบว่าความสำเร็จที่ผู้นำได้มา เกิดจากการให้กำลังใจ สนับสนุน การทำหน้าที่ผู้นำมากกว่าแค่เป็นหน้าที่ ภาวะผู้นำแบบการเปลี่ยนแปลงมีความเข้าใจเป็นฐานในการจูงใจ โดยส่วนใหญ่ถูกใช้ได้มีประสิทธิภาพที่สุดกับองค์กรที่มีลักษณะโครงสร้างแบบราบ (Flat structure) หรือ องค์กรที่มีขนาดเล็ก มีตำแหน่งไม่ซับซ้อน เพราะ องค์กรถูกขับเคลื่อนด้วยการสร้างกำลังใจในทีม ทั้งเรื่องของการแก้ปัญหา และ การทำงานร่วมกัน ลดความลำดับขั้นในการทำงานและทำให้ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน สามารถบริหารตัวเองได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับผู้นำคนเดียวเท่านั้น ตรงข้ามกับ องค์กรที่มีลำดับชั้นในการบริหารซึ่งผู้นำมีทั้งข้อมูลและอำนาจในการตัดสิน
ตัวอย่างของภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ Karen Penney ผู้บริหารของ Western Union ที่บริหารงานโดยเน้นความเข้าใจเป็นหลัก เธอได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อเกิดอะไรที่ไม่เป็นไปอย่างที่คิด คนต้องการเห็นว่าเราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร และ ตัวเราเองก็ผิดพลาดได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่บอกว่า คุณคือมนุษย์” ทว่าหลายๆ คนก็มีความคิดว่า การโชว์ความผิดพลาดคือช่องโหว่ที่แสดงถึงความอ่อนแอ แต่ตัวของ Karen เชื่อว่าการให้คนอื่นรู้จักสิ่งที่คุณกลัว สิ่งที่คุณหวัง และความรู้สึกที่แท้จริง เป็นก้าวแรกที่จะสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจ ที่จะหล่อหลอมให้เกิดการเดินหน้าไปด้วย ผู้นำแบบเธอชอบการเปิดใจกับทีมงานเพื่อสร้างความผูกพันของผู้ทำงานกับองค์กรให้เกิดความเชื่อใจ และความเชื่อใจนั้นเองที่เป็นสิ่งที่จูงใจคน
จากผลการศึกษาทั้งหมด พบว่า ผู้นำยุคโลกาภิวัฒน์ในอนาคต มีแนวโน้มของการบริหารงานแบบโครงสร้างที่เท่าเทียมกัน ภาวะความเป็นผู้นำที่จะได้รับความนิยมกับคนในยุคนี้ คือ ภาวะแบบการเปลี่ยนแปลง การจูงใจคนด้วยความเข้าใจจึงตอบโจทย์โลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งวิธีการทำงาน ความคิด มุมมอง ทัศนคติของผู้คน เช่นนี้แล้วองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยการตัดสินใจของคนๆ เดียวก็จะลืมไปในไม่ช้า
นอกจากมีภาวะความเป็นผู้นำที่เหมาะกับยุคสมัยแล้ว เราจะมีวิธีการเอาชนะใจคนได้อย่างไร ?
มาดู 4 แนวทางในการเอาชนะใจคนกันค่ะ!
1. สร้างความเป็นมิตรกับผู้คนรอบข้าง
หากคุณกำลังเริ่มต้นที่ต้องบริหารใครสักคน เริ่มต้นจากการทำความรู้จักทีมของคุณ ใช้เวลาในการสร้างความเชื่อใจ ความเป็นมิตร และสร้างสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง คุณอาจถามถึงหัวหน้าคนเก่าของทีมคุณว่าเป็นคนแบบไหน ทีมงานอยากให้คุณทำอะไร หรือไม่ชอบให้ทำอะไร คำถามเหล่านี้จะเป็นการสร้างความเชื่อถือให้กับตัวคุณเอง และแสดงให้เห็นว่าคุณใส่ใจพวกเขา ไม่ว่าเมื่อก่อนหัวหน้าของเขาจะดีหรือไม่ ไม่ว่าคำตอบของทีมจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อได้เลยว่าพวกเขาจะประทับใจในตัวคุณ ต่อจากนั้นคุณสามารถสร้างเป้าหมายของทีม และนำทีมในแบบของคุณได้
2. รับฟังคนอื่นอย่างตั้งใจ
ผู้คนมักจะทำตามคนที่พวกเขาชอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องสนิทกับทุกๆ คน ในฐานะที่คุณเป็นผู้นำการเป็นที่ชื่นชอบหรือสนิทสนมกับทีมงานมากๆ ก็เป็นสิ่งที่คุณต้องตระหนักไว้เช่นกัน ว่าหากคุณเป็นผู้นำคุณต้องเปรียบเสมือนทีพึ่งของทีมคุณได้ และเป็นผู้สร้างวิสัยทัศน์ และทำให้ทีมงานเห็นถึงภาพที่จะนำพวกเขาไปสู่ความสำเร็จได้ คุณจะต้องแน่ใจว่าเมื่อคุณสนิทสนมกับพวกเขาจะไม่เกิดความลำเอียง และยังคงเป็นกลางกับทุกคน สร้างความเชื่อมั่นกับพวกเขาผ่านการกระทำ และการสื่อสารอย่างเป็นธรรม
3. รักษาสัญญาต่อทีม
หากคุณไม่รักษาข้อตกลงที่ให้ไว้กับทีม จะมีเหตุผลอะไรที่พวกเขาจะทำตามคุณ การที่คุณทำตามข้อตกลงไม่ว่าจะกับทีม หรือ บุคคล เป็นการแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถลงมือนำทีมให้เกิดความสำเร็จขึ้นจริง จะทำทีมมีกำลังใจและสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงโอกาสที่จะเติบโตไปสู่เป้าหมายที่ประสบความสำเร็จมากกว่า
4. ให้ความสำคัญการคนในทีม และเป็นตัวอย่างที่ดี
การกระทำง่ายๆ ในการแสดงว่าคนในทีมเป็นคนสำคัญ แม้จะเป็นคำสั้นๆ ง่ายๆ อย่างการชื่นชม ให้กำลังใจ ในยามที่ทีมผ่านความยากลำบากมาด้วยกัน การยอมรับความสามารถหรือการทำงานของพวกเขาเป็นจุดสำคัญที่จะแรงขับเคลื่อนการทำงานของทีมได้
เป็นอย่างไรบ้างคะ? การจูงใจคนให้เป็นก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติผู้ที่จะเป็นผู้นำได้เช่นกัน อย่าลืมนำเทคนิคการเอาชนะใจคนไปลองใช้ดูนะคะ แล้วคุณอาจค้นพบสิ่งใหม่ๆ จากทีมของคุณก็ได้
Komentarai